ISO14001 มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม คืออะไร ทำไมโรงงานยุคใหม่ต้องมี [อัพเดต 2023]
ISO 14001 คือ มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environment management System) เพื่อใช้สำหรับองค์กรที่ต้องการบริหารจัดการกับความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมของตนอย่างเป็นระบบ
ISO14001 คืออะไร
ISO 14001 คือ มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environment management System) มาตรฐานสากลฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อใช้สำหรับองค์กรที่ต้องการบริหารจัดการกับความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมของตนอย่างเป็นระบบ โดยใช้ข้อกำหนดที่ได้ระบุไว้ในมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยการเพิ่มสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินการให้สอดคล้องตามกฎหมายและพันธะสัญญาที่เกี่ยวข้อง และความสามารถในการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรเอง เพื่อทำให้เกิดคุณค่าต่อองค์กร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร รวมถึงเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
มาตรฐานสากลฉบับนี้ใช้ได้กับทุกองค์กร ทุกขนาด และทุกประเภท โดยพิจารณาจากประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (environmental aspects) จากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่องค์กรพิจารณาแล้วว่าสามารถควบคุม หรือดำเนินการผลักดันอย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยการพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการ ( life cycle perspective) ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกกิจกรรม หรือบางกิจกรรมขององค์กร เพื่อให้เกิดการปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
ISO 14001 ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากหน่วยงานองค์กรทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรมีความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจ โดยมุ่งเน้นในการป้องกันมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนการผลิตในธุรกิจ
หลักการสำคัญของ ISO 14001
- การกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม: ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรต้องกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร โดยจะต้องกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับสภาพ ขนาดและประเภทธุรกิจขององค์กร ซึ่งนโยบายสิ่งแวดล้อมต้องแสดงความมุ่งมั่นต่อการป้องกันมลพิษหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ
- การวางแผน: วางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายสิ่งแวดล้อมที่องค์กรตั้งขึ้น โดยกำหนดระเบียบปฏิบัติงานระบุลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม , กำหนดระเบียบปฏิบัติงานพิจารณาข้อกำหนดในกฎหมายและระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง , กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับนโยบาย รวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะป้องกันและลดมลพิษจากการระบุลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม และจัดทำแผนงานสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย โดยแสดงระยะเวลาของแผนฯ ผู้รับผิดชอบและดัชนีวัดประสิทธิภาพอย่างชัดเจน
- การนำไปปฏิบัติและการดำเนินงาน: กำหนดโครงสร้าง และบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน เช่น ผู้รับผิดชอบด้านกฎหมาย ผู้รับผิดชอบภาวะฉุกเฉิน ตลอดจนผู้แทนฝ่ายบริหารด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อที่จะให้แผนงานสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประเมินความต้องการการฝึกอบรม แผนการฝึกอบรม การประเมินผล การฝึกอบรม ฯลฯ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่บุคลากรในองค์กร เพื่อที่จะควบคุมการปฏิบัติงานให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยที่สุด
- การตรวจสอบและการปฏิบัติการแก้ไข: องค์กรติดตามและวัดผลการดำเนินงาน โดยเปรียบเทียบกับแผนที่วางเอาไว้ แจกแจงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามแผน และทำการตรวจประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นระยะ เพื่อยืนยันความถูกต้องสมบูรณ์ของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้
- การทบทวนและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง: ผู้บริหารองค์กรทำการทบทวนระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
ประโยชน์ของ ISO 14001
ประโยชน์ของ ISO 14001 ส่งผลดีต่อทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งจะสามารถแบ่งได้ดังนี้
ประโยชน์ที่ได้รับภายในองค์กร
- เป็นส่วนหนึ่งของการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
- มีโครงสร้างมาตรฐานที่สามารถบูรณาการ (Integrate) ร่วมกับมาตรฐาน อื่นๆ ได้
- ทราบหลักการของข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO 14001:2015 และการนำมาตรฐานดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมได้
- สามารถพิจารณาประเด็นภายนอกและภายในที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์และทิศทางกลยุทธ์องค์กร
- สามารถชี้บ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย วิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
- สามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการตรวจติดตามภายในองค์กรได้
- เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร
ประโยชน์ที่ได้รับภายนอกองค์กร
- ลูกค้าเกิดความมั่นใจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้าและบริการ
- การจัดการเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- บรรลุความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
การขอรับรองระบบจัดการสิ่งแวดล้อม มาตรฐาน ISO 140001
ในการดำเนินการขอรับการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ทางองค์กรจะต้องจัดทำระบบตามข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO 140001 จะมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
- ศึกษาอนุกรมมาตรฐาน ISO 14000 ประกอบด้วย มาตรฐานระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม , การตรวจสอบประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อม , ฉลากกับผลิตภัณฑ์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม , การประเมินความสามารถในการจัดการสิ่งแวดล้อม , การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และมาตรฐานอื่นภายใต้ TC 207
- ประชุมฝ่ายบริหาร เพื่อขอการสนับสนุน ในการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
- ตั้งคณะกรรมการชี้นำ เพื่อจัดทำระบบและควบคุมดูแลให้เป็นไปตามที่กำหนด
- กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม วางแผนการจัดการระบบ จัดทำวิธีการปฏิบัติ และคำแนะนำที่จำเป็น
- ลงมือปฏิบัติตามระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้
- ตรวจติดตามระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อทำการตรวจสอบว่าระบบเป็นไปตามแผนและข้อกำหนดของมาตรฐาน และได้มีการนำไปใช้ปฏิบัติและคงไว้อย่างเหมาะสม
- แก้ไขข้อบกพร่องที่พบจากการตรวจติดตามภายใน และปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ติดต่อหน่วยงานที่ให้การรับรองและยื่นคำขอ
ใครเหมาะจะต้องทำ ISO14001
ISO14001 กำหนดกฏเกณฑ์สำหรับระบบจัดการสิ่งแวดล้อม ที่สามารถรับรองได้ โดยกำหนดกรอบการทำงานที่บริษัทหรือองค์กร สามารกปฏิบัติตามเพื่อสร้างระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิพล
ISO14001 ถูกออกแบบมาสำหรับทุกองค์กร ไม่ได้คำนึงว่าเหมาะกับกิจกรรมการผลิต การบริการ หรืออุตสาหกรรมใด โดยสามารถสร้างความมั่นใจแก่ฝ่ายบริหารของบริษัท พนักงาน ตลอดจนผู้ใรส่วนได้ส่วนเสียภายนอก เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรมีการวัดและปรับปรุงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เห็นได้ว่า ไม่ว่าองค์กรหรือบริษัทใดก็ตาม ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถนำ ISO14001 มาใช้ในองค์กรเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
ทั้งนี้ ISO 14001:2015 ได้ใช้โครงสร้างของข้อกำหนดที่เป็นโครงสร้างเดียวกันกับหลายๆ มาตรฐาน ได้แก่ ISO 9001:2015, ISO 22301:2012 และ ISO 27001:2013 ทำให้องค์กรสามารถนำมาตรฐานต่างๆ มาบูรณาการ (Integrate) เพื่อสะดวกในการประยุกต์ใช้ภายในองค์กร